วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

ท้าวศรีสุดาจันทร์

ท้าวศรีสุดาจันทร์ (ไม่ทราบ - พ.ศ. 2091) เป็นชื่อตำแหน่งของพระสนมเอกคนหนึ่งที่ไม่ปรากฏพระนามเดิมของสมเด็จพระไชยราชาธิราช และขุนวรวงศาธิราช อนึ่งท้าวศรีสุดาจันทร์ไม่ใช่พระนาม แต่เป็นตำแหน่งของพระชายาของกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาจากดินแดนทั้งสี่คือ เมืองเหนือ ปักษ์ใต้ สุพรรณภูมิ และละโว้-อโยธยา ได้แก่ ศรีสุดาจันทร์ ศรีจุฬาลักษณ์ อินทรสุเรนทร และอินทรเทวี โดยใช้เป็นการแสดงพระราชอำนาจเหนือดินแดนสยามทั้งมวล หากพระชายาองค์ใดให้ประสูติกาลพระโอรสที่จะได้รับการสืบราชสมบัติ พระชายาองค์นั้นก็จะมีฐานะที่สูงกว่าพระชายาอื่นอีก 3 พระองค์ ในกรณีของท้าวศรีสุดาจันทร์มีพระราชโอรสคือ พระยอดฟ้า พระนางจึงปรากฏพระนามในพระราชพงศาวดารว่า แม่หยั่วศรีสุดาจันทร์ ซึ่งเป็นคำที่รวบรัดมาจากคำว่า แม่อยู่หัว
มีการสันนิษฐานเกี่ยวกับพระชาติกำเนิดของท้าวศรีสุดาจันทร์ว่าสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์อู่ทอง โดยอาจสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระรามราชาธิราชที่เสียราชสมบัติแล้วถูกส่งไปอยู่เมืองปทาคูจาม ซึ่งอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ได้ให้ข้อสังเกตว่าราชวงศ์ดังกล่าวอาจถูกละเว้นไว้ในฐานะที่เป็นตระกูลศักดิ์สิทธิ์ ผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์ดังกล่าวจึงได้รับการเลี้ยงดูสืบมาให้มาทำหน้าที่สำคัญในราชสำนัก ซึ่งสอดคล้องกับจดหมายเหตุวันวลิต ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับขุนวรวงศาธิราช ที่เดิมเป็นพนักงานเฝ้าหอพระมาก่อน ว่าเป็นหมอผี มีหน้าที่อ่านแปลหนังสือพงศาวดารของต่างประเทศให้แก่พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขุนวรวงศาธิราชและรวมไปถึงท้าวศรีสุดาจันทร์ที่มีศักดิ์เป็นญาติ ไม่ได้มาจากตระกูลชั้นต่ำ แต่เป็นระดับผู้รู้ และอยู่ในฐานะระดับปุโรหิตที่มีหน้าที่เกี่ยวกับพระราชพิธีในราชสำนัก
ขุนวรวงศาธิราชมีน้องชายคือนายจัน บ้านมหาโลก ซึ่งหมู่บ้านดังกล่าวเป็นหมู่บ้านเขมร ดังนั้นตระกูลของเขาอาจมีความสัมพันธ์กับเขมรด้วย ซึ่งเอกสารโปรตุเกสได้กล่าวถึงนายจันว่าเป็นช่างเหล็ก ซึ่งเทคโนโลยีผลิตเครื่องมือเหล็กในสมัยนั้นไม่ใช่ของที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ ซึ่งต้องอาศัยผู้ชำนาญสะสมมาเป็นเวลานาน ซึ่งยืนยันได้ว่าตระกูลของนายจันไม่ใช่ตระกูลชั้นต่ำแต่อย่างใด
ด้วยเหตุที่พระนางมีพระราชโอรสคือ พระยอดฟ้า พระนางจึงมีฐานะที่สูงกว่าพระชายาอื่นอีก 3 พระองค์ ต่อมาภายหลังพระไชยเชษฐา ได้เสด็จกลับมาพระนคร และทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต ท้าวศรีสุดาจันทร์ได้ลอบปลงพระชนม์พระไชยราชาธิราช จึงได้มีการยกพระยอดฟ้า ผู้เป็นพระโอรสครองราชต่อมาในปี พ.ศ. 2089
ในปี พ.ศ. 2091 ท้าวศรีสุดาจันทร์ทรงอ้างว่าสมเด็จพระยอดฟ้ายังทรงพระเยาว์ หัวเมืองฝ่ายเหนือก็ไม่เป็นปกติจึงปรึกษากับขุนนางว่าจะให้ให้ขุนวรวงศาธิราชชู้รักว่าราชการแผ่นดินจนกระทั่งสมเด็จพระยอดฟ้าทรงเจริญพระชันษา ภายหลังจึงปลงพระชนม์โอรสของตนเอง แล้วจึงทำพิธีราชาภิเษกขุนวรวงศาธิราชเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาและสถาปนานายจัน ผู้เป็นน้องชายอยู่บ้านมหาโลก ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช
หลังจากการครองราชย์ของขุนวรวงศาธิราช ก็มีกลุ่มขุนนางผู้ใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการครองเป็นกษัตริย์นำโดยขุนพิเรนทรเทพ (ต่อมาคือ สมเด็จพระมหาธรรมราชา ได้ร่วมกันวางแผนจับขุนวรวงศาธิราชปลงพระชนม์เสีย โดยนำกำลังดักซุ่มที่คลองบางปลาหมอ ในวันที่เสด็จทางชลมารคไปคล้องช้างเถื่อนที่เพนียดวัดซองที่ย่านหัวรอ เมื่อขบวนเรือล่องมาถึงบริเวณปากคลอง ก็มีการสกัดจับขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์พร้อมด้วยบุตรปลงพระชนม์เสีย แล้วจึงไปทูลเชิญพระเฑียรราชาซึ่งผนวชอยู่ออกมาปราบดาภิเษกเป็น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%8C_%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%8A%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น