วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

ตระกูลบุญนาค


ตระกูล "บุนนาค" เป็นตระกูลเก่าแก่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ท่านเฉกอะหมัด พ่อค้าชาวเปอร์เซียและคณะ ได้เข้ามาทำการค้าขายและต่อมาได้รับราชการในกรมพระคลัง วงศ์เฉกอะหมัดได้สืบตระกูลต่อเนื่องกันมา ๖ ชั้น จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ.๒๓๑๐
หม่อมบุนนาคหรือนายบุนนาค ผู้สืบวงศ์เฉกอะหมัดลำดับชั้นที่ ๖ เข้ารับราชการและเป็นขุนนางที่ได้รับใช้ใกล้ชิดด้วยความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้สมรสกับเจ้าคุณนวล พระกนิษฐภคินี ของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยว ดองกับพระองค์ท่าน หม่อมบุนนาครับราชการสนองพระเดชพระคุณมีความดีความชอบมากมาย ทรงโปรด เกล้าฯ เลื่อนตำแหน่งและตั้งให้เป็นเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม แล้วเป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา ท่านผู้นี้เป็นต้นสกุล "บุนนาค" นับเป็นชั้นที่ ๑
เสนาบดีสมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ที่มาจากตระกูล ณ บางช้าง ซึ่งเป็นพระญาติทางฝ่ายพระบรมราชชนนีเป็นส่วนใหญ่ เสนาบดีในสมัยรัชกาลที่ ๓ จะเป็นขุนนางที่รับราชการในกรมวังมานาน และเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับพระองค์ท่านมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ได้แก่ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) อัครมหาเสนา บดีมหาดไทย ส่วนตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีกลาโหม จะเป็นบุตรหลานในสกุลบุนนาค

คณะเสนาบดีเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ ตามยศและตามตำแหน่ง ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ
เสนาบดีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ส่วนใหญ่มีตำแหน่งสำคัญๆ อยู่ในกรมมหาดเล็กหลวง มีเสนาบดี ๗ คน เป็นบุตรหลานโดยตรง ของตระกูลบุนนาค ได้แก่ บุตรของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ๒ ท่าน คือ ท่านดิศ และท่านทัต ได้เข้ารับราชการมาตั้งแต่แผ่นดินรัชกาลที่ ๑ เป็นผู้ที่มีบทบาทในการช่วยบริหารประเทศ ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ ท่านทั้งสองได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) ผู้สำเร็จราชการทั่วพระราชอาณาจักร และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต) ผู้สำเร็จราชการพระนคร ตามลำดับ บุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) คือ เจ้าคุณช่วง ซึ่งรับราชการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ต่อมา
ตลอดระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๑๖ เสนาบดีจากตระกูลบุนนาคมีบทบาทในการบริหารประเทศมากกว่าเสนาบดีในตระกูลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ และต้นรัชกาล ที่ ๕ (พ.ศ. ๒๓๖๗ - ๒๔๑๖)
ความรุ่งเรืองของตระกูลบุนนาคอาจจะเกิดจากสาเหตุ ใหญ่ๆ ๕ ประการ ได้แก่ ประการแรก มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับองค์พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีอย่างมิตรและอย่างญาติ ประการที่สอง นโยบายของรัชกาลที่ ๒ อันเกี่ยวกับพระอุตสาหะวิริยะที่จะจัดการกับอำนาจของขุนนาง ประการที่สาม การเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองซึ่งมีผลต่อขุนนาง ประการที่สี่ การตัดสินใจที่จะลดอำนาจเจ้านายลง และประการสุดท้าย ความสามารถของคนในตระกูลบุนนาคที่แต่ละคนจะแสวงหาความรู้ที่จำเป็นในเวลานั้นโดยเฉพาะ
จากเอกสารหนังสือประวัติสกุลบุนนาค ได้กล่าวถึงประวัติของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ตั้งแต่เยาว์วัยว่า เป็นมิตรสนิทของรัชกาลที่ ๑ ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาถูกพม่ายึดครอง และต่อมาสมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราชได้กู้อิสรภาพและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เมื่อครั้งเป็นนายฉลองไนยนารถ ได้รับใช้อยู่กับเจ้าพระยาจักรี (รัชกาลที่ ๑) เสมอมา อนึ่ง เมื่อตอนสูญเสียภรรยาไป ท่านได้แต่งงานกับเจ้าคุณนวล ซึ่งเป็นพระกนิษฐภคินีของพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๑ ทั้งสองท่านได้อาศัยอยู่กับรัชกาลที่ ๑ (ขณะนั้นเป็นเจ้าพระยาจักรี) กล่าวกันว่าท่านเจ้าคุณนวลเป็นพระอภิบาลของรัชกาลที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๓๓๐ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ได้รับแต่งตั้งเป็นอัครมหาเสนาบดีกลาโหมและธิดาของท่าน ๕ คนได้เป็นเจ้าจอม ได้แก่ เจ้าจอมมารดาตานี เจ้าจอม จิตร เจ้าจอมนก เจ้าจอมส้ม และเจ้าจอมชู บุตรของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ที่เกิดกับเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล นับเป็นราชินิกุล เป็นเจ้าคุณพระราชพันธุ์ชั้นที่ ๒ ตามลำดับ
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงพยายามที่จะเหนี่ยวรั้งอำนาจของขุนนางต่างๆ ไว้โดยการแต่งตั้งพระญาติให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งหมด ทรงตั้งตำแหน่ง ผู้กำกับราชการ ประจำกรมที่สำคัญๆ และทรงแต่งตั้งเจ้านายให้ประจำตำแหน่งนั้นด้วย เสนาบดีส่วนใหญ่จะเป็นพระญาติทางฝ่ายพระราชชนนีจากบุคคลในตระกูล ณ บางช้าง หรือเกี่ยวดองกับตระกูล ณ บางช้าง เช่น บุนนาค-นวล จะเห็นได้ว่าเสนาบดีในรัชกาลนี้ ๑๑ ท่าน จะเป็นพระญาติ ๘ ท่าน หนึ่งในบรรดาเสนาบดีเหล่านี้มีท่านดิศ บุนนาค ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีคลัง และได้เป็นสมุหพระ กลาโหม ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔
โดยทั่วๆ ไปคนในตระกูลบุนนาคจะรับราชการดำรงตำแหน่งกรมคลังติดต่อกันไป แต่ความสามารถยอดเยี่ยม ที่ได้รับการยกย่องของเสนาบดีในตระกูลบุนนาคคือ ในด้านการทูต ในสมัยที่ราชอาณาจักรสยามถูกประเทศมหาอำนาจตะวันตกคุกคามนั้น เมืองไทยยังไม่มีกำลังทหาร ที่ทันสมัยและเข้มแข็งที่จะต่อต้านมหาอำนาจตะวันตกได้ ความสามารถในทางการทูตจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากที่สุด บุตร ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) คือ ท่านช่วงเป็นผู้ที่ได้เตรียมพร้อมที่จะเผชิญปัญหา ใหม่ๆ ของบ้านเมือง ท่านได้ศึกษาภาษาอังกฤษ มีความ สนใจทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และด้านวิศวกรรม ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ท่านมีชื่อเสียงในการควบคุมดูแลการก่อสร้าง ป้อมที่ปากน้ำ และต่อเรือสำเภาแบบใช้ใบมีสายระโยง ระยางตามแบบยุโรปได้สำเร็จ นอกจากนี้ท่านยังมีมิตร สหายเป็นชาวต่างประเทศอีกด้วย
เสนาบดีตระกูลบุนนาค ได้ตระหนักถึงปัญหาบ้าน เมืองที่กำลังเผชิญอยู่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชสมบัติ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณกับคนในสกุลบุนนาคเป็นอย่างมาก ได้โปรดเกล้าฯ แต่ง ตั้งบุคคลในตระกูลบุนนาคและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายคน

ที่มา http://www.bunnag.in.th/history6.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น