วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พระราชประวัติพระเจ้าเสือ

พระชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้าเสือนั้น เชื่อว่าเป็นพระราชโอรสลับในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับพระสนมพระองค์หนึ่งโดยพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) ว่า นางเป็นพระราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่[2] โดยคำให้การขุนหลวงหาวัดได้ออกพระนามว่า พระราชชายาเทวี หรือ เจ้าจอมสมบุญ ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าเรียกว่า นางกุสาวดี[1]
แต่ในเวลาต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้พระราชทานพระสนมดังกล่าวให้แก่พระเพทราชา เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่ง (เจ้า-กรมช้าง) โดยในคำให้การขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่ามีเนื้อหาสอดคล้องกัน คือนางเป็นสนมลับของพระนารายณ์แต่แตกต่างกันเพียงชื่อของนาง และเหตุผลในการพระราชทานพระโอรสแก่พระเพทราชา แต่พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) กลับให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระชาติกำเนิดแตกต่างไปจากคำให้การขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่า โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสมเด็จพระนารายณ์ ทรงทำศึกสงครามกับเมืองเชียงใหม่แล้วได้ราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นสนม แต่นางสนมเกิดตั้งครรภ์ พระองค์ได้ละอายพระทัยด้วยเธอเป็นนางลาว พระองค์จึงได้พระราชทานแก่พระเพทราชา[1] ดังความในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) ความว่า "...แล้วเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาจากเมืองเชียงใหม่นั้น พระองค์เสด็จทรงสังวาสด้วยพระราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ และนางนั้นก็ทรงครรภ์ขึ้นมา ทรงพระกรุณาละอายพระทัย จึงพระราชทานนางนั้นให้แก่พระเพทราขา แล้วดำรัสว่านางลาวนี้มีครรภ์ขึ้นมา เราจะเอาไปเลี้ยงไว้ในพระราชวังก็คิดละอายแก่พระสนมทั้งปวง และท่านจงรับเอาไปเลี้ยงไว้ ณ บ้านเถิด และพระเพทราชาก็รับพระราชทานเอานางนั้นไปเลี้ยงไว้ ณ บ้าน"[5] โดยเหตุผลของสมเด็จพระนารายณ์ได้ปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่าว่า พระองค์ทรงเกรงว่าพระราชโอรสองค์นี้จะคิดกบถชิงราชสมบัติอย่างเมื่อคราวพระศรีศิลป์ ส่วนคำให้การขุนหลวงหาวัด กล่าวว่า พระองค์ทรงต้องรักษาราชบัลลังก์ให้กับพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระอัครมเหสีเท่านั้น[1]
พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) จดพระนามเดิมของพระองค์ว่า มะเดื่อ[5][6] ส่วนในหนังสือปฐมวงศ์ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียกว่า ดอกเดื่อ[7] เนื่องจากประสูติใต้ต้นมะเดื่อในแขวงเมืองพิจิตร ขณะพระมารดาเสด็จติดตามออกพระเพทราชาโดยเสด็จสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ที่เมืองพิษณุโลก
จดหมายเหตุเอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมันประจำคณะทูตของบริษัทอีสต์อินเดียของฮอลันดาที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีราชสำนักสยามในปี พ.ศ. 2233 ได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับปีประสูติของออกหลวงสุรศักดิ์ว่า เมื่อ พ.ศ. 2233 พระสุรศักดิ์ (Peja Surusak) พระมหาอุปราชมีพระชนม์ 20 พรรษา[8] แสดงว่าพระองค์ประสูติในปี พ.ศ. 2213



ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:Phra_Chao_Suea.jpg

พระเจ้าอู่ทองมาจากไหน

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง ทรงเป็นพระปฐมบรมกษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 1893 ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของอาณาจักรอยุธยา เมื่อ จุลศักราช 712 ปีขาล โทศก วันศุกร์ เดือนห้า ขึ้นหกค่ำ เวลา 3 นาฬิกา 9 บาท (ตรงกับ พ.ศ. 1893) มีพระนามเต็มว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตร พระเจ้าอยู่หัว และเสด็จสวรรคต เมื่อ ปีระกา เอกศก จุลศักราช 731 (ตรงกับ พ.ศ. 1912) ครองราชสมบัติ 20 ปี ผู้สืบราชพระราชบัลลังก์ต่อคือ สมเด็จพระราเมศวร
ที่มาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
แนวความคิดที่ 1
พระเจ้าอู่ทองมาจากอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแนวความคิดของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่ในปัจจุบันแนวความคิดนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้วเนื่องจากการสำรวจหลักฐานทางโบราณคดีของ อ.มานิต วัลลิโภดม ที่เมืองอู่ทองแล้วพบว่า เป็นศิลปกรรมสมัยทวารวดีตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ทั้งสิ้น แล้วประมาณอายุเมืองนี้ว่าต้องร้างไปก่อนสมัยสมเด็จพระรามาธิบดี ผู้สร้างพระนครศรีอยุธยาราว 200 ปี ศาสตราจารย์ชอง บวสเซอลิเย่ แห่งมหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศสมาร่วมขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2511 สรุปว่าเมืองอู่ทองโบราณนี้ร้างไปแล้วเป็นเวลาถึง 300 ปีก่อนยุคของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
แนวความคิดที่ 2
สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มผู้ปกครองทางเหนือ ในตำนานสิงหนวัติกล่าวว่า พระเจ้าอู่ทองสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าพรหมกุมาร มีต้นวงศ์อยู่ที่เมืองเชียงแสนหรือแคว้นโยนกนคร ต่อมาพระเจ้าพรหมได้อพยพมาสร้างเมืองที่เชียงรายหรือเวียงไชยปราการ กษัตริย์ที่เวียงไชยปราการที่ปกครองสืบต่อมาถูกเมืองสุธรรมวดีรุกราน จึงอพยพอยู่แถบบริเวณเมืองไตรตรึงส์สืบต่ออายุมาหลายชั่วคน จนถึงพระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ที่ได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
แนวความคิดที่ 3
แนวความคิดที่ว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นชาวจีน เป็นเพียงการอ้างอิงจากพงศาวดารฉบับวันวลิต อีกทั้งก็ไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีมาสนับสนุน ข้อสันนิษฐานนี้จึงไม่มีน้ำหนักมากพอเช่นกัน
แนวความคิดที่ 4
พระเจ้าอู่ทองมาจากเมืองเพชรบุรี(พริบพรี) ที่กล่าวถึงในจดหมายเหตุลาลูแบร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ รวมถึงยังมีตำนานที่กล่าวอ้างอิงถึงอยู่บ้าง โดยกล่าวว่า สมเด็จพระบรมราชาสถาปนาพระพุทธไตรรัตนนายกได้ 1 ปีก็เสด็จออกผนวช แล้วสถาปนาเจ้าชายวรเชษฐ์ ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ครั้นลาสิกขาแล้ว ก็โปรดให้เจ้าชายวรเชษฐ์ไปครองเมืองเพชรบุรี ซึ่งตำนานระบุว่าต่อมาคือสมเด็จพระรามาธบดีที่ 1
แนวความคิดที่ 5
พระเจ้าอู่ทองอยู่ที่บริเวณอยุธยานี้เดิมอยู่แล้ว เดิมเป็นเจ้าเมืองอโยธยา เมื่อมีโรคระบาดดังกล่าวก็ได้เสด็จมาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณที่เป็นกรุงศรีอยุธยาในปัจจุบัน
แนวความคิดที่ 6
พระเจ้าอู่ทองสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองลพบุรี โดยอ้างหลักฐานทางลายลักษณ์อักษรจากชินกาลมาลีปกรณ์ ที่กล่าวถึงกษัตริย์จากเมืองอโยธยปุระเสด็จมาจากเมืองกัมโพชหรือลพบุรีในปัจจุบันมายึดเมืองชัยนาทหรือพิษณุโลกในปัจจุบัน แล้วตั้งขุนนางชื่อวัฏเดชหรือขุนหลวงพะงั่วครองเมืองสุพรรณภูมิ ญาติของวัฏเดชได้อภิเษกกับพระเจ้าอู่ทองแล้วพระองค์ก็ได้เสด็จกลับไปที่เมืองอโยธยปุระ
แนวความคิดที่ ๗
อยพหนีการกบฎของทาสชาวเขมรมาจากนครวัด โดยหัวหน้าทาสที่ก่อการกบฎมีนามว่า แตงหวาน (ตระซก ประแอม) ซึ่งพงศาวดารเขมรฉบับแรกสุด (ที่ยังไม่มีอิทธิพลของฝรั่งเศส) ก็อ้างว่าตระซกประเอมนี้คือบรรพบุรุษต้นกำเนิดของชาวเขมร การที่ชินกาลมาลีปกรณ์แห่งล้านนาบันทึกว่าพระเจ้าอู่ทองมาจากแคว้นกัมโพช ก็ตรงกันว่า แม้อพยพมาอยู่อยุธยาก็ยังคงเป็นกษัตริย์ของกัมโพช (นครวัด) ดังเดิม
ตามหลักฐานและโบราณคดี
ทฤษฎีเกี่ยวกับที่มาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ในแนวคิดที่ 4 5 และ 6 สามารถผนวกรวมกันได้ กล่าวคือ เมื่อพิจารณาตำนานทั้งหลายแล้ว เจ้าชายวรเชษฐ์ ทรงเป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมราชา กษัตริย์แห่งอาณาจักรละโว้ (แนวความคิดที่ 6) ต่อมาพระราชชนกโปรดให้ไปครองเมืองพริบพรี (แนวความคิดที่ 4) และหลังจากพระราชชนกเสด็จสวรรคตแล้ว ทรงกลับมาครองเมืองอโยธยา (แนวความคิดที่ 5) จากนั้นจึงเกิดโรคระบาด จึงทรงย้ายที่ตั้งเมืองมายังตำแหน่งปัจจุบัน





ที่มา:http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88_1

วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พระเจ้าปราสาททอง(พระราชประวัติ)

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 5 พระมหากษัตริย์อาณาจักรอยุธยาพระองค์ที่ 24 (ครองราชย์ พ.ศ. 2173 - พ.ศ. 2199) และทรงเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ปราสาททอง ราชวงศ์ลำดับที่ 4 ของอาณาจักรอยุธยา
เป็นตำนานเล่ากันมาว่า เมื่อสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถยังเป็นพระมหาอุปราชอยู่ วันหนึ่งเสด็จประพาสลำน้ำมาถึงเกาะบางปะอิน เรือพระที่นั่งถูกพายุพัดจนล่มจึงต้องเสด็จไปอาศัยบนเกาะบางปะอิน จึงได้นางอิน หญิงบนเกาะมาเป็นบาทบริจาริกาจนนางคลอดบุตรเป็นชาย สมเด็จพระเอกาทศรถจะรับเป็นพระโอรสก็ละอายพระทัยจึงทรงรับไปเลี้ยงแต่เด็กจนกระทั่งเติบใหญ่
          แนวความคิดที่2 มาจากจดหมายเหตุวัน วลิต ซึ่งเป็นเอกสารที่เขียนในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กล่าวว่าพระเจ้าปราสาททองนั้นเป็นบุตรออกญาศรีธรรมาธิราช ซึ่งเป็นพี่ชายคนใหญ่ของพระชนนีสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม คนทั้งหลายเรียกท่านกันว่า พระองค์ไล ประสูติในปีชวด รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ตรงกับ พ.ศ. 2143)






ที่มา:http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87

ยินดีต้อนรับเข้าสู่บล็อก

บล็อกนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในรายวิชานี้