วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

ท้าวทองกีบม้า

คนไทยในสมัยโบราณยังไม่รู้จักคำว่า ขนม ซึ่งเป็นอาหารอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่กับข้าว
แต่เป็นของกินหลังอาหาร หรือกินเล่น มีรสชาติหวานมัน อร่อยถูกปาก เพราะปรุงจาก
แป้ง ไข่ กะทิ และน้ำตาล เชื่อกันว่าผู้ประดิษฐ์คิดขนมไทยออกมาเผยแพร่จนเป็นที่นิยม
กันอย่างกว้างขวางสืบต่อมาจนทุกวันนี้มีชื่อว่า "ท้าวทองกีบม้า" ซึ่งเพี้ยนมาจาก
ดอญ่า มาร กีมาร์ ท้าวทองกีบม้ามีชื่อเต็มว่า มารี กีมาร์ เด ปนา ส่วนคำว่า "ดอญ่า"
เป็นภาษาสเปน เทียบกับภาษาไทยได้ว่า
"คุณหญิง"

 


มารีกีมาร์แต่งงานกับคอนสแตนติน ฟอลคอนชาวกรีกที่เข้า มารับราชการ ในแผ่นดิน
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนเป็นที่โปรดปราน ได้รับแต่งตั้งเป็นถึงอัครมหาเสนาบดี
ฟอลคอนยกย่องเธอในฐานะภรรยาเอก หลังการแต่งงานฟอลคอนก็ได้เป็นผู้ควบุคมการก่อสร้าง
ป้อมแบบยุโรปในกรุงศรีอยุธยา และบางกอก ต่อมาเมื่อออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) ถึงแก่กรรม
ออกญาพระเสด็จซึ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งออกญาโกษาธิบดีแทนก็เลื่อนตำแหน่งให้เขาขึ้นมา
ทำหน้าที่ผู้ช่วยและยังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกพระฤทธิ์กำแหง ตำแหน่งนี้ทำให้
ฟอลคอนร่ำรวยขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เพราะประกอบการค้าส่วนตัวควบคู่ไปกับราชการด้วย
ท้าวทองกีบม้าจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายหรูหราอย่างหาผู้ใดในกรุงศรีอยุธยาเปรียบเทียบไม่ได้ การเป็นภรรยาของขุนนางที่มีตำแหน่งสูง ทั้งยังต้องติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศเสมอ
ทำให้ท้าวทองกีบม้าต้องพบปะเจอะเจอแขกที่เดินทางมาในฐานะราชอาคันตุกะ และแขกในหน้าที่
ราชการของสามี




ปีที่ ๖ ของการเข้ารับราชการ ฟอลคอนได้รับตำแหน่งหน้าที่เจริญรุ่งเรืองสูงสุด โดยได้เป็นสมุหนายกอัครมหาเสนาบดีแต่ด้วยความคิดมิชอบฟอลคอลที่ติดต่อกับฝรั่งเศสเป็นการลับให้ยึดสยามเป็นอาณานิคม
จึงถูกกลุ่มของพระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์จับในข้อหากบฏ เรียกตำแหน่งคืน ริบทรัพย์ และ
ถูกประหารชีวิต เล่ากันว่า ก่อนขึ้นตะแลงแกงฟอลคอนได้รับอนุญาตให้ไปอำลาลูกเมียที่บ้าน
แต่ด้วยความเกลียดชัง ท้าวทองกีบม้าซึ่งถูกจองจำอยู่ในคอกม้าถึงกลับถ่มน้ำลายรดหน้า และ
ไม่ยอมพูดจาด้วย ต่อมาเธอถูกนำตัวกลับมายังกรุงศรีอยุธยา

ท้าวทองกีบม้าถูกส่งตัวเข้าไปเป็นคนรับใช้ในพระราชวัง ออกหลวงสรศักดิ์ที่มีความพึงพอใจเธออยู่เป็นทุนเดิมต้องการได้เธอเป็นภรรยาน้อย แต่เธอไม่ยินยอม ทำให้ออกหลวงสรศักดิ์ไม่พอใจมากออกปากขู่ต่างๆ นานา จนท้าวทองกีบม้าไม่สามารถทนอยู่ต่อไปได้ จึงตัดสินใจลอบเดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยา
โดยติดตามมากับนายทหารฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ ร้อยโทเซนต์ มารี เพื่อมาอาศัยอยู่กับนายพลเตฟาซจ์ที่ป้อมบางกอกและขอร้องให้ช่วยส่งตัวเธอและลูก ๒ คน ไปยังประเทศฝรั่งเศส แต่นายพลเตฟาช์จไม่ตกลงด้วยเพราะเห็นว่าจะเป็นปัญหาภายหลัง จึงส่งตัวท้าวทองกีบม้าให้แก่ออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ซึ่งท่านก็รับไว้ด้วยความเมตตา กระนั้นเธอก็ยังต้องถูกคุมขังเป็นเวลานานถึง ๒ปี

หลังการปลดปล่อยเธอได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ทำอาหารหวานประเภทต่างๆ ส่งเข้าไปในพระราชวังตามกำหนด การทำหน้าที่จัดหาอาหารหวานส่งเข้าพระราชวังทำให้ท้าวทองกีบม้าต้องประดิษฐ์คิดค้นขนมประเภทต่างๆ ขึ้นมาใหม่ตลอดเวลา จากตำรับเดิมของชาติต่างๆ โดยเฉพาะโปรตุเกส ซึ่งเป็น
ชาติกำเนิดของเธอ ท้าวทองกีบม้าได้พัฒนาโดยนำเอาวัสดุดิบพื้นถิ่นที่มีในประเทศสยามเข้ามาผสมผสาน จนทำให้เกิดขนมที่มีรสชาติอร่อยถูกปากขึ้นมามากมาย เมื่อจัดส่งเข้าไปในพระราชวังก็ได้รับความชื่นชมมาก ถึงขนาดถูกเรียกตัวเข้าไปรับราชการในพระราชวังในตำแหน่งหัวหน้าห้องเครื่องต้น มีหน้าที่ดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวงเป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์ และเก็บผลไม้เสวย มีพนักงานอยู่ใต้บังคับบัญชาถึง ๒,๐๐๐ คน ซึ่งเธอก็ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ยกย่องชื่นชม มีเงินคืนท้องพระคลังปีละมากๆ ด้วยนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีเมตตา ทำให้ท้าวทองกีบม้าถ่ายทอดตำรับการปรุงขนมหวานแบบต่างๆ ให้แก่สตรีที่ทำงานใต้บังคับบัญชาของเธอจนเกิดความชำนาญ และสตรีเหล่านี้เมื่อกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ญาติพี่น้องยังบ้านเกิดของตนก็ได้นำตำรับขนมหวานไปเผยแพร่ต่ออีกทอดหนึ่ง จึงทำให้ตำรับขนมหวานที่เคยอยู่ในพระราชวังแผ่ขยายออกสู่ชนบทมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็กลายเป็น
ขนมพื้นบ้านของไทย

ชีวิตบั้นปลายของท้าวทองกีบม้าจัดว่ามีความสุขสบายตามสมควร แม้ว่าท้าวทองกีบม้าจะมีกำเนิดเป็นคนต่างชาติ แต่เธอก็เกิด เติบโตและมีชีวิตอยู่ในประเทศสยามจวบสิ้นอายุขัย แถมยังสร้างสิ่งประดิษฐ์อันล้ำค่าทั้งในด้านชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมประเพณีของไทยเอาไว้อย่างมากมายมหาศาล
สมกับคำยกย่องกล่าวขานของคนรุ่นหลังที่มอบแด่เธอว่า ราชินีขนมไทย


 
ที่มา http://utcc2.utcc.ac.th/faculties/comarts/webjrshow/Kanomthai/H1.html



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น