วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555




ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนมีมายาวนานกว่าหนึ่งพันปี เริ่มต้นตั้งแต่พ่อค้าชาวจีนยุคบุกเบิกที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ ในหลากหลายอุตสาหกรรมของประเทศไทย นับแต่ยุคแรกๆ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ช่วงศตวรรษที่ 17 การค้าขายทางเรืออยู่ในความควบคุมของชาวจีนเป็นหลัก
     ล่วงมาถึงสมัยกรุงธนบุรี การค้าขายของชาวจีนก็มีความโดดเด่นมากเช่นเดียวกัน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ก็ทรงสนับสนุนการทำธุรกิจเหล่านี้ และทรงต้อนรับชาวจีนอพยพซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงสืบทอดในการสนับสนุนกิจกรรมการค้าของชาวจีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการค้า ของไทย-จีนให้ยิ่งมั่นคงและยั่งยืนขึ้น โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เป็นยุคที่คนจีน เดินทางหลั่งไหลเข้ามาสู่ราชอาณาจักรของไทยเป็นจำนวนมาก


ชาวจีนที่อพยพเข้ามาแยกย้ายกันไปอาศัยอยู่ตามท้องที่ ต่างๆ โดยแบ่งไปตามเผ่าพันธุ์ของตนเองเป็นหลัก ชนชาวฉาวโจว (แต้จิ๋ว) ประกอบด้วยผู้คนจาก 6 เมืองคือ ฉาวอัน ฉาวหยาง เฉิงไห่ ผู่หนิง เจียหยาง หราวผิง ซึ่งเป็นเมือง ที่ตั้งอยู่ริมทะเล และเลียบปากแม่น้ำ ชาวกวางตุ้งมาจากกว่างโจว ชาวฝูเจี้ยน มาจากเมืองท่าเซี่ยะหมิน โดยมีชาวฉวนโจวและ จางโจวเป็นส่วนมาก ส่วนชาวเค่อเจีย (ฮากกา) ไม่ได้มาจาก ภูมิภาคที่เป็นปึกแผ่นนัก แต่มาจากมณฑลที่กระจัดกระจายอยู่ทาง ตอนใต้ของจีน ชนชาวไห่หนานเป็นประชากรส่วนใหญ่ของมณฑล ฝูเจี้ยน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไห่หนาน ชื่อเมือง เหวินชาง และฉงซาน กล่าวได้ว่าชาวจีนส่วนใหญ่นั้นเป็นชาวฉาวโจว ตามมาด้วย ฝูเจี้ยน ไห่หนาน กว่างโจว ขณะที่ชาวเค่อเจียมีจำนวนน้อยที่สุด
     ในสมัยกรุงสุโขทัย พ่อค้าชาวจีนเดินทางเข้ามาค้าขายในแผ่นดินสยามมากมาย แต่มีจำนวนไม่มากนักที่ตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่เป็นการถาวร อย่างไรก็ดี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา จำนวนชาวจีนอพยพได้เพิ่มจำนวนขึ้น ช่วยให้ธุรกิจการค้าในราชอาณาจักร เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว การสนับสนุนพ่อค้าและนักธุรกิจชาวจีนใน สยามได้กลายเป็นนโยบายที่สำคัญยิ่งในสมัยกรุงธนบุรี ทั้งนี้รวมถึงการให้สิทธิพิเศษแก่ชาวฉาวโจวด้วย
     เมื่อมีการเปลี่ยนเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีมาเป็นกรุงเทพมหานครนั้น ชาวจีนอพยพทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยต้องการทักษะเชิงพาณิชย์ที่ชาวจีนมีอยู่ จึงได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจอย่างเสรี และที่สำคัญ ยังได้รับการยกเว้นการจ่ายภาษีค่าแรงงานด้วย ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ชาวจีนจึงต้องจ่ายภาษีค่าแรง จนกระทั่ง ถูกยกเลิกไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)



พ่อค้าชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้นำมาซึ่งความคิด วิถีชีวิต ศิลปะและความรู้ด้านต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มสีสันและพลังความตื่นตัวให้กับสังคมไทย ชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้เป็นคนขยันและ ยึดมั่นอยู่กับปณิธานความตั้งใจในการเริ่มต้นและพัฒนาธุรกิจของตนเองให้เฟื่องฟูเสมอ ในช่วงรัชสมัยของพระมหากษัตริย์ลำดับ ต้นถึงกลางแห่งราชวงศ์จักรีนั้น ได้พระราชทานประโยชน์โภชผล พร้อมนโยบายพิเศษที่เอื้อแก่พ่อค้าชาวจีนเป็นอย่างมาก คนไทยเองก็มิได้ต่อต้านชาวจีน กลับให้สิทธิ์ซึ่งเท่าเทียมกับคนไทยในการทำอาชีพค้าขาย เกษตรกรรม ต่อเรือและการเดินเรือด้วยซ้ำ เหนือสิ่งอื่นใดคือ พ่อค้าชาวจีนได้รับสิทธิพิเศษในการเดินทางเข้าออกประเทศสยามอย่างเสรี อันเป็นอภิสิทธิ์ที่พ่อค้าจากชาติอื่นไม่ได้รับเลย
          ในพ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้สร้างถนนเยาวราช ซึ่งต่อมาเป็นที่ รู้จักกันดีในฐานะ “หัวใจ” ของชุมชนชาวจีน วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ชาวไทย-จีนจากทั่วทุกสารทิศต่างวิถีชีวิต ได้ร่วมมือ ร่วมใจกันสร้างซุ้มพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ที่มา http://www.thaicc.org/th/culture/culture/417-2010-09-20-06-31-43.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น