วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การเสียดินแดนในยุคเศรษฐกิจเสรี

การเสียดินแดนในยุคเศรษฐกิจเสรี

วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม 2555 เวลา 00:00 น.
กลางเดือนมีนาคม 2555 ที่ผ่านมา มีการจัดสัมมนาที่สำคัญเรื่องหนึ่ง คือเรื่องนิติกรรม อำพราง : ต่างชาติกับการถือครองที่ดิน จัดโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรมของวุฒิสภา หัวข้อการสัมมนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่องตัวแทน อำพรางที่ รศ.ปิยะนุช โปตะวณิช ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นหัวหน้าคณะวิจัยและได้ทำการศึกษาเพื่อนำเสนอต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
ในขณะที่ยังเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งศึกษาถึงกรณีที่คนต่างด้าวอาศัยช่องว่างของกฎหมายทำธุรกรรมในลักษณะต่าง ๆ โดยให้ผู้มีสัญชาติไทยเป็นตัวแทนในลักษณะอำพราง  ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ได้เน้นถึงกรณีการเข้ามาถือครองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นของคนต่างชาติ  โดยใช้วิธีการต่าง ๆ ในการหลีกเลี่ยงกฎหมายที่จำกัดการถือครองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ของคนต่างด้าว

ข่าวคราวหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับการพยายามหลีกในประเทศไทย ได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนอยู่บ่อยครั้ง ๆ หน่เลี่ยงกฎหมายของคนต่างด้าว เพื่อเข้ามาถือครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์วยงานรัฐ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนี้ไม่ว่าจะเป็นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตลอดจนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ต่างก็ออกมาแสดงความมุ่งมั่นที่จะป้องกันปัญหาดังกล่าวในส่วนงานที่ตนเองมีอำนาจหน้าที่

สิ่งที่น่าตกใจก็คือ ข้อมูลจากการวิจัยที่ถูกเปิดเผยในการสัมมนาพบว่า ขณะนี้เนื้อที่ดินประมาณ 100 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศไทย ได้ถูกถือครองโดยคนต่างด้าว ผ่านการทำนิติกรรมและตัวแทนอำพรางที่เป็นคนไทย จำนวนเนื้อที่ดินที่ถูกถือครองโดยคนต่างด้าวดังกล่าว ต้องถือว่าเป็นเนื้อที่ดินที่มีจำนวนมากเกือบครึ่งประเทศ

นอกจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเนื้อที่ดินแล้ว ยังพบว่าในจำนวนที่ดินที่ถูกถือครองโดย คนต่างด้าวทั้งหมดกว่า 90% เป็นที่ดินแถบชายทะเล เช่น หาดบ้านแพ จังหวัดระยอง อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหาดพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งในจำนวนนี้ยังรวมถึงที่ดินแถบชายทะเลในจังหวัดภูเก็ต และเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานีอีกด้วย

ท่านอาจารย์ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน  ซึ่งได้มอบหมายและผลักดันให้เกิดงานวิจัยนี้ได้กล่าวว่า ปัญหานี้มีมานานแล้ว เนื่องจากภาครัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ได้มีการแก้ไขกฎเกณฑ์ด้วยการเปิดช่องให้ชาวต่างชาติที่มีเงินเพียง  1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย สามารถเข้าถือครองที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ ได้เป็นกรณีพิเศษ ถือเป็นการแย่งดินแดนโดยใช้ระบบเศรษฐกิจและช่องโหว่ของกฎหมาย  แต่ในความเป็นจริงชาวต่างชาติใช้ช่องทางนี้น้อยมาก  เพราะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก และต้องทำเรื่องขออนุญาตรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน

รูปแบบที่ชาวต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินผ่านตัวแทนอำพรางที่ปรากฏอยู่ทั่วไป เช่น การเข้ามาสมรสกับคนไทย หรือการให้คนไทยเป็นผู้ซื้อที่ดิน แต่มีการทำสัญญากู้ยืม จำนอง หรือเช่าไว้กับคนต่างด้าวเพื่อเป็นหลักประกันในที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์เป็นผู้ออกเงินซื้อ แต่รูปแบบที่ถือว่ามีความซับซ้อนและตรวจสอบได้ยาก หากหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่พิจารณาเฉพาะรูปแบบการถือหุ้นเพียงผิวเผินก็คือรูปแบบการตั้งนิติบุคคลหรือบริษัทเป็นสัญชาติไทยในช่วงแรก แล้วไปทำการแปลงสภาพในภายหลัง ซึ่งในเรื่องการจัดตั้งนิติบุคคล แม้จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กำหนดให้คนต่างด้าวถือหุ้นในนิติบุคคลไทยได้ไม่เกิน 49% ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติจะพบว่า หุ้นในนิติบุคคลที่เหลืออีก 51% ถูกถือครองโดยตัวแทนอำพราง (nominee) ทำให้กรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เข้ามาทำการตรวจสอบการถือหุ้นที่แจ้งไว้อย่างผิวเผิน ก็จะยังพบว่านิติบุคคลนั้นยังมีสถานะเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว อำนาจในการบริหารจัดการตลอดจนการรับผลที่คนต่างด้าวประโยชน์จากการประกอบธุรกิจ จะตกอยู่กับคนต่างด้าวที่เป็นเจ้าของเงินทุนจดทะเบียน ซึ่งการถือครองที่ดินโดยนิติบุคคล จะเริ่มทำการถือครองในขณะที่ยังมีสภาพเป็นนิติบุคคลไทยตามกฎหมาย แต่ต่อมาภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้น หรือทำการเพิ่มทุนไปจนทำให้มีสถานะใหม่เป็นนิติบุคคลต่างด้าว แต่ก็ไม่ได้มีการรายงานให้กรมที่ดินทราบ เพื่อทำการสั่งจำหน่ายการถือครองที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในภายหลัง

จากสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนกฎหมายที่จะนำมาบังคับใช้เพื่อป้องกันปัญหา แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายน่าจะเห็นตรงกันก็คือ การขาดการประสานงานที่มีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายดังที่ยกมาข้างต้นในการร่วมกันตรวจสอบการทำนิติกรรมหรือสถานะของนิติบุคคลที่ถือครองที่ดินว่าจะมีลักษณะเป็นการทำนิติกรรม หรือจัดตั้งนิติบุคคลเพื่ออำพรางหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายหรือไม่

นอกจากนี้ในการพิจารณาข้อเท็จจริง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการถือหุ้นในนิติบุคคลที่ดูผิวเผินเหมือนจะเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยนั้น หน่วยงานและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องก็ควรจะต้องพิจารณาอย่างลงลึกไปถึงสัดส่วนการถือหุ้นในลำดับชั้นต่าง ๆ อย่างละเอียด เพื่อให้เห็นว่ามีการถือหุ้นอันเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายหรือไม่ด้วย

สภาพของปัญหาที่ถูกหยิบยกมานำเสนอในการสัมมนาดังกล่าวถือว่าอยู่ในขั้นที่น่าเป็นห่วง หากหน่วยงานรัฐตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถทำการประสานงานในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่ เชื่อแน่ว่าระดับความรุนแรงของปัญหานี้จะมีมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จำนวนเนื้อที่ดินที่จะถูกถือครองโดยคนต่างด้าวอาจจะมีจำนวนมากขึ้นจนเกินกว่าครึ่งประเทศ  ประกอบกับการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่ปีจากนี้ อาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ปัญหาการทำนิติกรรมหรือตัวแทนอำพรางของต่างชาติที่จะเข้ามาถือครองที่ดินในประเทศไทยทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ปัญหาเรื่องการถือครองที่ดินโดยคนต่างชาติ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในหลาย ๆ กิจการในปัจจุบันที่ผู้ประกอบธุรกิจที่มีชาวต่างชาติควบคุมพยายามใช้ความไม่สุจริตหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายไทยกำหนดในการดำเนินการทำธุรกิจแบบมีเงื่อนงำ ปกปิดข้อเท็จจริง หากไม่มีใครคิดจะป้องกันปัญหานี้อย่างจริงจัง สักวันหนึ่งเราอาจได้เห็นภาพคนไทยเข้าคิวซื้อบัตรเพื่อเข้าไปเดินเล่นหรือพักผ่อนริมชายทะเลในช่วงวันหยุดพักผ่อนก็เป็นได้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น