วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พระราชประวัติพระเจ้าเสือ

พระชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้าเสือนั้น เชื่อว่าเป็นพระราชโอรสลับในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับพระสนมพระองค์หนึ่งโดยพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) ว่า นางเป็นพระราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่[2] โดยคำให้การขุนหลวงหาวัดได้ออกพระนามว่า พระราชชายาเทวี หรือ เจ้าจอมสมบุญ ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าเรียกว่า นางกุสาวดี[1]
แต่ในเวลาต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้พระราชทานพระสนมดังกล่าวให้แก่พระเพทราชา เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่ง (เจ้า-กรมช้าง) โดยในคำให้การขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่ามีเนื้อหาสอดคล้องกัน คือนางเป็นสนมลับของพระนารายณ์แต่แตกต่างกันเพียงชื่อของนาง และเหตุผลในการพระราชทานพระโอรสแก่พระเพทราชา แต่พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) กลับให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระชาติกำเนิดแตกต่างไปจากคำให้การขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่า โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสมเด็จพระนารายณ์ ทรงทำศึกสงครามกับเมืองเชียงใหม่แล้วได้ราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นสนม แต่นางสนมเกิดตั้งครรภ์ พระองค์ได้ละอายพระทัยด้วยเธอเป็นนางลาว พระองค์จึงได้พระราชทานแก่พระเพทราชา[1] ดังความในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) ความว่า "...แล้วเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาจากเมืองเชียงใหม่นั้น พระองค์เสด็จทรงสังวาสด้วยพระราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ และนางนั้นก็ทรงครรภ์ขึ้นมา ทรงพระกรุณาละอายพระทัย จึงพระราชทานนางนั้นให้แก่พระเพทราขา แล้วดำรัสว่านางลาวนี้มีครรภ์ขึ้นมา เราจะเอาไปเลี้ยงไว้ในพระราชวังก็คิดละอายแก่พระสนมทั้งปวง และท่านจงรับเอาไปเลี้ยงไว้ ณ บ้านเถิด และพระเพทราชาก็รับพระราชทานเอานางนั้นไปเลี้ยงไว้ ณ บ้าน"[5] โดยเหตุผลของสมเด็จพระนารายณ์ได้ปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่าว่า พระองค์ทรงเกรงว่าพระราชโอรสองค์นี้จะคิดกบถชิงราชสมบัติอย่างเมื่อคราวพระศรีศิลป์ ส่วนคำให้การขุนหลวงหาวัด กล่าวว่า พระองค์ทรงต้องรักษาราชบัลลังก์ให้กับพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระอัครมเหสีเท่านั้น[1]
พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) จดพระนามเดิมของพระองค์ว่า มะเดื่อ[5][6] ส่วนในหนังสือปฐมวงศ์ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียกว่า ดอกเดื่อ[7] เนื่องจากประสูติใต้ต้นมะเดื่อในแขวงเมืองพิจิตร ขณะพระมารดาเสด็จติดตามออกพระเพทราชาโดยเสด็จสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ที่เมืองพิษณุโลก
จดหมายเหตุเอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมันประจำคณะทูตของบริษัทอีสต์อินเดียของฮอลันดาที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีราชสำนักสยามในปี พ.ศ. 2233 ได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับปีประสูติของออกหลวงสุรศักดิ์ว่า เมื่อ พ.ศ. 2233 พระสุรศักดิ์ (Peja Surusak) พระมหาอุปราชมีพระชนม์ 20 พรรษา[8] แสดงว่าพระองค์ประสูติในปี พ.ศ. 2213



ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:Phra_Chao_Suea.jpg

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น